Pledge About

ข่าว

องค์กรไวล์ดเอดเผย คนไทยส่วนใหญ่นิยมบริโภคหูฉลาม 
ส่งสัญญาณน่าเป็นห่วงชีวิตฉลามโลก


องค์กรไวล์ดเอดเผย คนไทยส่วนใหญ่นิยมบริโภคหูฉลาม
ส่งสัญญาณน่าเป็นห่วงชีวิตฉลามโลก

กรุงเทพมหานคร 18 .. 2560 องค์กรไวล์ดเอด (WildAid) ได้มีการแถลงการณ์ผลสำรวจความต้องการบริโภคหูฉลามในประเทศไทย ซึ่งจากการสำรวจพบว่าคนไทยมากกว่าครึ่งเคยบริโภคหูฉลาม และที่น่าเป็นห่วงคือมากกว่า 60% ยังต้องการบริโภคหูฉลามในอนาคต บ่งชี้ว่าควาต้องการบริโภคหูฉลามของคนไทยมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น  นอกจากนั้นคนไทยจำนวนมากยังไม่ทราบถึง ผลกระทบจากการบริโภคหูฉลามต่อประชากรฉลามทั่วโลก รวมถึงความโหดร้ายของการฆ่าฉลามเพื่อการค้าหูฉลาม 

รายงาน “ผลสำรวจความต้องการบริโภคหูฉลามในประเทศไทย” รวบรวมข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงบทบาท ของประเทศไทยในเวทีการค้าหูฉลามของโลก พร้อมกับผลสำรวจความต้องการบริโภคหูฉลามในประเทศไทยที่จัดทำโดยองค์กรไวล์ดเอด และบริษัทวิจัย แรพพิด เอเชีย (Rapid Asia)  เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะทำความเข้าใจ ปัจจัยของการบริโภคหูฉลามของคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

จากการสำรวจพบว่า คนไทยบริโภคหูฉลามอย่่างแพร่หลาย และมีแนวโน้มที่ประเทศไทยจะเป็นตลาดสำคัญของการค้าหูฉลาม โดยคนไทย 57% ที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองทั่วประเทศเคยบริโภค หรือยังคงบริโภคหูฉลามตามโอกาสต่างๆ ขณะที่ 29% ได้บริโภคหูฉลามในช่วง 12 เดือนที่่ผ่านมา และที่น่าเป็นห่วงคือ คนไทย 61% ยังต้องการบริโภคหูฉลามในอนาคต โดยให้เหตุผลว่า เพราะความอยาก รู้อยากลอง และเคยได้ยินมาว่าหูฉลามมีรสชาติดี ทั้งที่จริงแล้ว หูฉลามไม่มีรสชาติใดๆ แต่มาจากน้ำซุป ที่ผ่านการปรุงรส  

ผู้บริโภคบอกว่า ได้รับประทานหูฉลามบ่อยครั้งที่สุดที่งานแต่งงาน (72%) ทานกับครอบครัวที่ร้านอาหาร (61%) และในงานเลี้ยงธุรกิจ (47%) ซึ่งการสำรวจตลาดโดยองค์กรไวล์ดเอดพบว่า มีร้านอาหารอย่างน้อย 100 ร้านในกรุงเทพมหานครที่มีเมนูหูฉลาม แสดงให้เห็นว่าเมนูดังกล่าวพบได้ทั่วไป และผู้บริโภคสามารถ ซื้อหาได้อย่างง่ายดาย 

แต่ละปี มีฉลามกว่า 100 ล้านตัวถูกฆ่าอย่างโหดร้าย ในจำนวนนี้ครีบของฉลามมากถึง 73 ล้านตัวถูกนำมาทำเป็น “ซุปหูฉลาม” หรือประกอบเป็นเมนูอื่นๆ ซึ่งประเทศไทยถูกจัดได้ว่าเป็นตลาดค้าครีบฉลามรายใหญ่แห่งหนึ่งของโลก โดยเกิดจากการที่ผู้บริโภคไม่ตระหนักถึงการกระทำอันโหดร้ายเบื้องหลังเมนูหูฉลามนั้น ที่เหล่าฉลามต่างถูกลากขึ้นมาเพื่อเฉือนครีบของมันออกทั้งหมด ก่อนจะถูกโยนทิ้งกลับลงสู่ท้องทะเล ซึ่งทำให้ฉลามเหล่านั้นต้องจมน้ำตายทั้งเป็น เนื่องจากสูญเสียครีบอันเป็นอวัยวะสำคัญในการดำรงชีวิต 

“จากผลการสำรวจ เป็นที่แน่ชัดว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความตระหนักให้คนไทยรับรู้ถึง ผลกระทบจากการบริโภคหูฉลามที่มีต่อประชากรฉลามทั่วโลก และจำเป็นต้องลดความต้องการบริโภค หูฉลาม เพราะหยุดซื้อ คือ หยุดฆ่า” มร.จอห์น เบเกอร์ กรรมการผู้จัดการ องค์กรไวล์ดเอด กล่าว

ตามข้อมูลของศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร ระหว่างพ.ศ.2555-2559 ประเทศไทยส่งออกครีบ ปลาฉลามและหูฉลามแปรรูปมากกว่า 22,467ตัน และนำเข้าผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันมากกว่า 451.57ตัน ปีพ.ศ.2558 เพียงปีเดียว ไทยส่งออกมากกว่า 5,000ตัน ซึ่งใกล้เคียงกับปริมาณผลิตภัณฑ์หูฉลามแปรรูป ที่ฮ่องกงนำเข้าในปีเดียวกัน ทั้งนี้ไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่า แหล่งที่มาของครีบฉลามที่ไทยนำมาแปรรูป และส่งออกไปนั้นมาจากแหล่งใดบ้าง เนื่องจากประชากรฉลามในน่านน้ำไทยมีจำนวนไม่มากพอ เมื่อเทียบกับปริมาณการส่งออกที่ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหารได้รับรายงาน ด้วยข้อมูลข้างต้น ทำให้ไทยกลายเป็นผู้ส่งออกหูฉลามแปรรูปอันดับหนึ่งของโลกแทนฮ่องกง

าคาซุปหูฉลามในประเทศไทย เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งเสริมการบริโภค โดยเริ่มต้นที่ชามละ 300 บาท ในร้านอาหารข้างทาง ไปจนถึงชามละ 4,000 บาท ในภัตตาคารหรู 

ไวล์ดเอดยังได้ทำการสำรวจความตระหนักของคนไทยเกี่ยวกับภัยคุกคามประชากรฉลาม และพบว่า อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของประชาชนทั้งประเทศ  ยังไม่ได้รับทราบถึงผลกระทบจากการบริโภคและการค้า หูฉลามต่อประชากรฉลามโลก โดยพวกเขาไม่ทราบว่าส่วนใหญ่ฉลามจะถูกฆ่าเพียงเพื่อเอาครีบของมัน มาประกอบอาหารเท่านั้น และจำนวนประชากรฉลามหลายสายพันธุ์ลดลงมากถึง 98% ในขณะที่คนไทย 85% ไม่ทราบจำนวนฉลามที่ถูกฆ่าในแต่ละปี 

นอกจากนี้ในงานแถลงการณ์ไวลด์เอดได้เปิดตัวอินโฟกราฟิก “หูฉลามคนละชาม แลกกี่ล้านชีวิต” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างองค์กรไวล์ดเอด (WildAid) และ Infographic Thailand อีกด้วย

 

โดยมร.จอห์น เบเกอร์ ได้กล่าวเสริมว่า “ในปี 2560 นี้ องค์กร ไวลด์เอด ตั้งปณิธานที่จะดำเนินงานอย่างใกล้ชิดกับภาครัฐให้มากยิ่งขึ้น เพิ่มความร่วมมือ กับร้านอาหารและโรงแรมเพื่อขอให้ยกเลิกเมนูหูฉลาม รวมถึงสรรหาทูตตัวแทนจากเหล่าศิลปิน นักแสดง และผู้มีชื่อเสียงเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงสื่อและการรับรู้ของประชาชนให้ทั่วถึงมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะเราเชื่อว่ายิ่งคนไทยได้รับรู้ถึงผลกระทบที่เกิดจากการบริโภคหูฉลามมากเท่าไหร่ พวกเขาก็จะไม่อยากเกี่ยวข้องกับการค้าการบริโภคหูฉลามมากเท่านั้น ด้วยความร่วมมือร่วมใจกันของทุกคน เราจะสามารถยับยั้งความต้องการหู ฉลามในประเทศไทยได้ในที่สุด”


ดาวน์โหลดรายงานผลสำรวจความต้องการบริโภคหูฉลามในประเทศไทย ภาคภาษาไทยและอังกฤษที่นี่