ไวล์ดเอดผนึกกำลังผู้นำภาคธุรกิจ 15 ท่านเปิดตัวโครงการ ผู้นำธุรกิจไทยยืนหยัดปกป้องช้าง
ผู้นำธุรกิจไทย ยืนหยัดปกป้องช้าง ให้คำมั่นไม่ซื้อ ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์งาช้าง
กรุงเทพมหานคร (13 มีนาคม 2560) – องค์กรไวล์ดเอด ช่วยสัตว์ป่า (WildAid) ผนึกกำลังผู้นำภาคธุรกิจไทย 15 ท่าน เปิดตัวโครงการ “ผู้นำธุรกิจไทยยืนหยัดปกป้องช้าง” ในวันช้างไทย ด้วยการลงนามไม่ซื้อ ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากซากสัตว์ป่าผิดกฎหมายและงาช้างรวมทั้งแสดงความมุ่งมั่นที่จะปกป้องสัตว์ป่าของไทย และเรียกร้องให้ภาคธุรกิจแสดงจุดยืนไม่สนับสนุนการค้างาช้าง
วิกฤตการณ์ฆ่าช้างเอางาในทวีปแอฟริกาพุ่งสูงมากถึง 33,000 ตัวต่อปี โดยประเทศไทยเป็น 1 ในปลายทาง และทางผ่านของงาช้างผิดกฎหมายเหล่านี้ที่ถูกลักลอบไปขายในจีน และตลาดอื่นๆ ที่มีความต้องการงาช้าง เพื่อสร้างความตระหนักในเรื่องนี้องค์กรไวล์ดเอด จึงร่วมกับคุณวิลเลียม เอ็ลล์วู๊ด ไฮเน็ค ประธานกรรมการ และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ชักชวนผู้นำธุรกิจ องค์กรดังในไทยลงนามให้คำมั่นเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีในการปกป้องช้างและสัตว์ป่า รวมทั้ง แสดงพลังไม่สนับสนุนผลิตภัณฑ์งาช้าง และการค้างาช้าง
“ในฐานะผู้นำธุรกิจผมคิดว่าพวกเราควรจะเป็นแบบอย่างที่ดีในการกระตุ้นให้สังคมรับรู้ถึงวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นกับช้าง รวมทั้งสนับสนุนความมุ่งมั่นของคนไทยในการปกป้องช้าง และสิ่งแวดล้อม เราทุกคนต้องช่วยกันลดความต้องการผลิตภัณฑ์งาช้าง เพราะ หยุดซื้อ คือ หยุดฆ่า” นายไฮเน็คกล่าว
ผู้นำทางธุรกิจทั้ง 15 ท่านที่ลงนามให้คำมั่นในครั้งนี้ คือ
- คุณวิลเลียม เอ็ลล์วู๊ด ไฮเน็ค ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)
- หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล อดีต รองนายกรัฐมนตรี
- คุณบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ธนาคารกสิกรไทย
- คุณบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)
- คุณชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
- คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช นายกสมาคมสร้างสรรค์ไทย (ตาวิเศษ)
- คุณเดวิด ไลแมน ประธานกรรมการ และผู้บริหารสูงสุดด้านวัฒนธรรมองค์กร บริษัท ติลลิกีแอนด์กิบบินส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
- คุณฮาราลด์ ลิงค์ ประธานบี.กริม
- คุณกมลา สุโกศล ประธานกรรรมการบริหารกลุ่ม โรงแรมในเครือสุโกศล
- นายกีรติ อัสสกุล กรรมการบริษัท โอเชียนกลาส จำกัด (มหาชน)
- คุณกิริต ชาห์ ประธานกรรมการจีพี กรุ๊ป
- คุณริชาร์ด เดวิด ฮัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทฮานา
- คุณสันติ ภิรมย์ภักดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด
- คุณสุรินทร์ โอสถานุเคราะห์ ประธานกรรมการบริษัท บางกอกรินเวสท์ จำกัด
- คุณสุจินต์ หวั่งหลี ประธานกรรมการบริษัท นวกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน)
องค์กร ไวล์ดเอด ยังได้เผยแพร่รายชื่อนักธุรกิจต้นแบบกลุ่มแรก 15ท่าน ที่ร่วมลงนามในคำมั่นนี้ บนเวบไซต์ www.ivoryfreethai.org หวังกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือและสนับสนุนในหมู่ภาคธุรกิจ โดยขอเชิญชวนให้ผู้นำองค์กร และคนทั่วไปร่วมกันลงนามในคำมั่นนี้ด้วยกัน เพื่อเป้าหมายสูงสุดคือ การลดความต้องการผลิตภัณฑ์งาช้าง และการยุติการค้างาช้างในประเทศ
“ผมเชื่อว่า เมื่อผู้นำธุรกิจและคนไทยได้รับรู้ถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับช้าง พวกเขาจะให้การสนับสนุน และปกป้องช้างอย่างเต็มที่แน่นอน” นายไบรอัน อดัมส์ ผู้จัดการโครงการรณรงค์ประจำภูมิภาคเอเชีย องค์กรไวล์ดเอด กล่าว
ซ้าย-ขวา 1.คุณวารินทร์ สัจเดว,พิธีกร,ผู้ประกาศข่าว 2.จอห์น โรเบิร์ตส์ ผู้อำนวยการมูลนิธิช้างสามเหลี่ยมทองคำ 3.คุณกีรติ อัสสกุล กรรมการบริษัทโอเชียนกลาส จำกัด (มหาชน) 4.คุณวิลเลียม เอ็ลล์วู๊ด ไฮเน็ค, ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนลจำกัด (มหาชน) 5.คุณไบรอัน อดัมส์, ผู้จัดการโครงการรณรงค์ภูมิภาคเอเชีย,ไวล์ดเอด 6.คุณสมเกียรติ สุนทรพิทักษ์กูล ผู้อำนวยการกองกองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา 7.คุณหญิงชดช้อยโสภณพนิช นายกสมาคมสร้างสรรค์ไทย (ตาวิเศษ) 8.คุณเดวิด ไลแมน, ประธานกรรมการและผู้บริหารสูงสุดด้านวัฒนธรรมองค์กรบริษัทติลลิกีแอนด์กิบบินส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 9.คุณแพททริคโบท, ผู้จัดการใหญ่โรงแรมอนันตราสยาม
ช้าง เป็นสัตว์ประจำชาติของไทย การอนุรักษ์และปกป้องช้าง จึงถือเป็นความภาคภูมิใจ และเป็นสิ่งที่ ปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนาน รัฐบาลไทยดำเนินมาตรการหลายอย่าง เพื่อแก้ปัญหาการค้างาช้าง ผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง เมื่อปี 2558 ไทยออกพระราชบัญญัติงาช้าง เพื่อควบคุมตลาดค้างาช้าง ถูกกฎหมายที่มาจากช้างบ้านของไทยที่เป็นช้างเอเชียเท่านั้น รัฐบาลยังได้แก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 กำหนดให้ช้างแอฟริากันเป็น 1 ในสัตว์คุ้มครอง ของไทย มีผลห้ามการซื้อขายหรือครอบครอง งาช้างแอฟริกัน
แม้อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือไซเตส รวมถึงองค์กรอนุรักษ์ จะชื่นชมความพยายามแก้ปัญหาการค้างาช้างผิดกฎหมายของไทยในช่วงหลายปี ที่ผ่านมา แต่หลายฝ่ายยังกังวลว่า แนวทางแก้ปัญหาของไทยอาจยังไม่เพียงพอ กรณีของฮ่องกงแสดงให้ เห็นแล้วว่า ตลาดการค้างาช้างถูกกฎหมาย เป็นเพียงฉากบังหน้าให้กับการค้างาผิดกฎหมายเท่านั้น แม้รัฐบาลฮ่องกงมั่นใจว่า มีกลไกต่างๆ ที่สามารถควบคุมการค้าได้
ในระดับนานาชาติ ที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยอนุสัญญาไซเตสเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2559 มีมติเรียกร้องให้ทุกประเทศดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อปิดตลาดค้างาช้างในประเทศของตนอย่างจริงจัง
“เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลไทยจะพิจารณาเปลี่ยนจุดยืน และเดินหน้าปิดตลาดค้างาช้างในประเทศ ตามอย่างจีน สหรัฐ และฮ่องกงที่ได้ออกมาประกาศก่อนหน้า และดำเนินตามมติการประชุม อนุสัญญาไซเตส” นายอดัมส์กล่าว
ลงนามปกป้องช้างด้วยกัน www.ivoryfreethai.org