องค์กรไวล์ดเอดเปิดเผย แอฟริกาใต้กำลังปล่อยให้ผู้อยู่เบื้องหลังอาชญากรรมต่อแรดลอยนวล
เคปทาวน์, แอฟริกาใต้ – รายงานล่าสุดจากองค์กรไวล์ดเอด ช่วยสัตว์ป่า เปิดเผยว่า แอฟริกาใต้กำลังปล่อยให้พ่อค้าคนกลาง และผู้อยู่เบื้องหลังการสั่งฆ่าแรดและลักลอบส่งออกนอแรดจำนวนมากลอยนวลโดย แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของแอฟริกาใต้ในการดำเนินคดี และลงโทษผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องสำคัญในคดีอาชญากรรมต่อแรด
“เป็นเวลาหลายปีแล้ว ที่เราเห็นบุคคลที่มีหน้ามีตาในสังคมแอฟิรกาใต้คนแล้วคนเล่า รอดพ้นจากการถูกดำเนินคดี ตามระบบยุติธรรม แม้พวกเขาเหล่านั้นจะอยู่เบื้องหลังการสั่งฆ่าแรดและลักลอบค้านอแรด แอฟริกาใต้ต้องไม่ปล่อยให้ การคอรัปชั่น การปฏิบัติหน้าที่ที่ไร้ประสิทธิภาพ และความหละหลวมในระบบดำเนินต่อไป การหยุดยั้งกลุ่มอาชญากรรม ทำได้โดยการดำเนินคดีกับคนในระดับหัวหน้า ไม่ใช่แค่นักล่าระดับล่าง” มร.ปีเตอร์ ไนทส์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร องค์กรไวล์ดเอดกล่าว
รายงานขององค์กรไวล์ดเอด ระบุว่า คดีที่มีผู้ต้องหาอยู่ในแวดวงการล่าสัตว์ การเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเพื่อการล่าหรือการพานิชย์ หรือ สัตวแพทย์ หลายคดีมักถูกยกฟ้อง เลื่อนการพิจารณา หรือมีค่าปรับอันน้อยนิด ในขณะที่ผู้ลักลอบล่าแรดระดับปฏิบัติการ มักจะถูกประหาร หรือถูกตัดสินจำคุกระยะยาว
ธุรกิจเกี่ยวการเพาะเลี้ยงแรดเพื่อการล่าและการพานิชย์ในแอฟริกาใต้อยู่เบื้องหลังคดีฟ้องร้องอันยาวนานต่อรัฐบาลที่ได้ประกาศ ห้ามการค้านอแรดในประเทศเมื่อปี 2552 และในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญแอฟริกาใต้ประกาศให้การขายนอแรดในประเทศ เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายอีกครั้งเมื่อเดือนที่แล้ว ยิ่งไปกว่านั้นแอฟริกาใต้กำลังพิจารณาอนุญาตให้การส่งออกนอแรด ถูกกฎหมายเช่นกัน
“เช่นเดียวกับประเทศที่อนุญาตให้มีการค้างาช้างอย่างถูกกฎหมาย มันเป็นเพียงฉากบังหน้าให้กับการลักลอบค้างาช้าง โดยผิดกฎหมาย และยิ่งทำให้คนมีความต้องการซื้อสูงขึ้น” มร.ไนทส์ กล่าว “การอนุญาตให้ค้านอแรดอย่างถูกกฎหมาย ทำให้เกิดกลไกการลักลอบนำนอที่ได้จากการฆ่าแรดมาสวมรอยเพื่อค้าขาย ส่งผลให้มีการฆ่าแรดเพิ่มขึ้น และบั่นทอนความพยายามลดความต้องการนอแรดในประเทศที่มีความต้องการสูง ซึ่งขณะนี้เริ่มจะเห็นผล”
ความพยายามในการรณรงค์เพื่อลดความต้องการนอแรดในเวียดนาม และจีน มีความคืบหน้าอย่างมาก ผลการสำรวจตลาดแสดงให้เห็นว่า ราคาขายส่งนอแรดลดลง 50 เปอร์เซ็นต์ หรือมากกว่าในประเทศดังกล่าว และผลการสำรวจโดยองค์กรไวล์ดเอด พบด้วยว่า คนที่ยังเชื่อว่านอแรดมีสรรพคุณทางยามีจำนวนลดน้อยลงมาก
“การปกป้องประชากรแรดในอุทยานแห่งชาติครูเกอร์ ในแอฟริกาใต้เป็นไปในทางที่ดีขึ้นมาก ประกอบกับความต้องการนอแรด กำลังลดลงในเอเชีย แต่ความพยายามทั้งหมดอาจล้มเหลว เพราะการอนุญาตให้ค้านอแรดอีกครั้ง รวมถึงการที่ประเทศแอฟริกาใต้ไม่เอาจริงกับการดำเนินคดีผู้อยู่เบื้องหลังกลุ่มอาชญากรรมต่อแรด ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐรู้ดีว่าคือใคร” มร.ไนทส์ กล่าว
แอฟริกาใต้กำลังพ่ายแพ้สงครามปกป้องแรดรอบใหม่
จากความล้มเหลวในการดำเนินคดีกับผู้อยู่เบื้องหลัง และการสร้างความสับสนต่อประเทศที่บริโภคนอแรด
ข้อค้นพบสำคัญจากรายงาน
การขาดการดำเนินคดีกับผู้อยู่เบื้องหลัง
- วิกฤตการการฆ่าแรดเพื่อเอานอในแอฟริกาใต้ มีกลุ่มองค์กรอาชญากรรมอยู่เบื้องหลัง และกลุ่มอาชญากรรมเหล่านี้ ได้รับการอำนวยความสะดวกให้กระทำผิดเพราะการคอรัปชั่น กระบวนการทางกฎหมายที่ขาดประสิทธิภาพ และความล้มเหลวที่จะดำเนินคดีกับผู้อยู่เบื้องหลังกลุ่มอาชญากรรม โดยเฉพาะผู้ค้าในระดับกลางและระดับสูง
- ในขณะที่ผู้ลักลอบล่าแรดระดับปฏิบัติการจำนวนมากถูกตัดสินจำคุก ผู้ต้องสงสัยที่เป็นพ่อค้าคนกลางและผู้อยู่เบื้องหลังระดับสูง ซึ่งอยู่ในแวดวงธุรกิจการล่าสัตว์ป่า และสัตวแพทย์มักจะถูกปล่อยตัว แม้กระทั่งผู้กระทำผิดซ้ำสองก็รอดพ้นจากการถูก ดำเนินคดี
- องค์กรไวล์ดเอดพบว่า คดีที่มีผู้มีหน้ามีตาในสังคมตกเป็นผู้ต้องหา มักจะถูกเลื่อนการพิจารณา ยกฟ้อง การต่อรองคำรับสารภาพ การคุกคามพยาน การลดหย่อนโทษ หรือมีโทษปรับอันน้อยนิดที่ไม่สมกับการกระทำผิด และไม่เพียงพอที่จะยับยั้งคนจากการกระทำผิด
การประกาศให้การค้านอแรดเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายในประเทศ
- ศาลรัฐธรรมนูญแอฟริกาใต้ประกาศให้การค้านอแรดในประเทศถูกกฎหมายอีกครั้ง แม้รัฐบาลแอฟริกาใต้ ประกาศห้ามค้านอแรดในประเทศตั้งแต่ปี 2552 ส่วนหนึ่งเพราะไม่ได้ดำเนินตามแนวทางการควบคุม ตลาดค้านอแรดโดยถูกต้องตามกระบวนการ
- ในรายงานฉบับนี้ องค์กรไวล์ดเอดได้แสดงความเป็นห่วงในร่างกฎหมายฉบับใหม่ซึ่งจะเปิดทางให้ สามารถส่งออกนอแรดได้ “แผนของแอฟริกาใต้ที่จะอนุญาตให้ส่งออกนอแรด มีแนวโน้มจะทำให้สถานการณ์ ของประชากรแรดย่ำแย่ลงกว่าเดิม” วัตต์ส กล่าว
- องค์กรไวล์ดเอดเชื่อว่า แอฟริกาใต้กำลังสร้างความสับสนให้กับประเทศที่ยังมีความต้องการนอแรดสูง และไวล์ดเอดเป็นห่วงว่า แอฟริกาใต้จะไม่สามารถควบคุมตลาดการค้านอแรดได้ เห็นได้จากตัวอย่างของ ประเทศที่มีตลาดค้างาช้างถูกกฎหมาย ยิ่งทำให้ความต้องการงาช้างมีมากขึ้น และการฆ่าช้างแอฟริกาเพื่อเอางา มากถึงปีละ 30,000 ตัว ยังคงดำเนินต่อไป
การฆ่าแรดเพื่อเอานอที่แฝงมาในรูปแบบของการล่าสัตว์เพื่อการกีฬา
- รายงานของไวล์ดเอดพบว่า เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายล้มเหลวที่จะตรวจจับผู้แสวงผลประโยชน์จากช่องโหว่ ของกฎระเบียบเกี่ยวกับการล่าสัตว์เพื่อการกีฬาในช่วง 3 ปี อีกทั้งยังไม่สามารถที่จะดำเนินการใดๆ กับผู้กระทำผิด อีกใน 3 ปีต่อมา และกว่าที่กฎหมายใหม่จะมีผลบังคับใช้ นอแรดจากแรดขาวมากกว่า 200ตัว ได้ถูกส่งออกไปยัง เวียดนามแล้ว
- เมื่อปลายปี 2559 นักล่าสัตว์ชาวเวียดนามได้รับอนุญาตให้ยิงแรดขาวในรูปแบบของการล่าสัตว์เพื่อกีฬา ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า ชาวเวียดนามรายนี้ถูกตั้งข้อหาคดีอาญานับพันคดี รายงานฉบับนี้ตั้งข้อสังเกตว่า นี่เป็นการแสดงให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่ของแอฟริกาใต้ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมาย และควบคุมธุรกิจการล่าสัตว์ เพื่อการกีฬาได้อย่างรัดกุม
การลดความต้องการนอแรด
- วัตต์ส ระบุในรายงานว่า มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า การรณรงค์เพื่อลดความต้องการนอแรดในหลายประเทศในเอเชีย กำลังทำให้ทัศนคติของสาธารณชนและพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง ความตระหนักรู้ของประชาชนที่มีมากขึ้น ในประเทศเหล่านี้ กำลังสะท้อนไปยังการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายของรัฐบาล
- ราคาขายนอแรดในเวียดนาม และจีน ลดลงราวครึ่งหนึ่ง และการสำรวจตลาดพบว่า ความต้องการซื้อนอแรด ลดลงอย่างเห็นได้ชัด
- ผลสำรวจที่จัดทำโดยองค์กรไวล์ดเอดในจีน และเวียดนามพบว่า มีประชาชนน้อยกว่า 1ใน 4 ที่ยังเชื่อว่านอแรด มีสรรพคุณทางยา และจำนวนชาวเวียดนามที่ยังเชื่อว่านอแรดสามารถรักษาโรคมะเร็งได้ ลดลงจนเหลือน้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ จากเกือบ 35% เมื่อปี 2557
- ในเดือนมิถุนายน 2560 ประเทศเวียดนามกำลังจะเพิ่มโทษผู้กระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมต่อแรด ขณะที่แอฟริกาใต้ แทบจะไม่ได้ดำเนินการอะไรที่จะเป็นการสนับสนุนความพยายามรณรงค์เพื่อลดความต้องการนอแรดและงาช้าง ในประเทศที่ยังมีความต้องการผลิตภัณฑ์เหล่านี้ในระดับสูง
ข้อเสนอองค์กรไวลด์เอด
องค์กรไวล์ดเอดมีข้อเสนอแนะให้แอฟริกาใต้ดำเนินการอย่างทันทีทันใดดังนี้ :
- จัดตั้งศาลพิเศษเพื่อพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมต่อแรดทั้งหมด
- ดำเนินคดีอย่างเด็ดขาดกับพ่อค้าคนกลาง และผู้อยู่เบื้องหลังการก่ออาชญากรรม
- ประกาศห้ามการค้านอแรดเพื่อการพานิชย์ โดยดำเนินตามขั้นตอนที่ถูกต้อง
- เรียกร้องให้ประเทศโมซัมบิกดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการคอรัปชั่น การฆ่าแรด และการลักลอบ ส่งออกนอแรด
- สนับสนุนโครงการรณรงค์เพื่อลดความต้องการนอแรด โดยเฉพาะที่ประเทศจีน และเวียดนาม
อ่านรายงานฉบับเต็มภาษาอังกฤษได้ที่นี่
ข้อมูลเพิ่มเติม
จำนวนประชากรแรดทั่วโลก ลดลงไปถึง 95% ในช่วง 40ปีที่ผ่านมา
สงครามปกป้องแรดครั้งที่ 1 พ.ศ. 2508-2538
ความต้องการนอแรดพุ่งสูงสุด ระหว่างปี พ.ศ.2508-2538 ประชากรแรดในประเทศส่วนใหญ่ในทวีปแอฟริกา ยกเว้นแอฟริกาใต้ และนามิเบีย ลดลงอย่างมาก ด้ามจับกริชที่ทำมาจากนอแรดเป็นที่ต้องการอย่างสูงในประเทศเยเมน โดยเฉพาะในทศวรรษที่ 60-70 ซึ่งเป็นผลมาจากยุคทองของธุรกิจน้ำมันในซาอุดิอาระเบีย ทำให้ชาวเยเมนจำนวนหนึ่ง ร่ำรวยขึ้นมาก และพวกเขาซื้อผลิตภัณฑ์นอแรดเพื่อบ่งบอกฐานะ ต่อมามติของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิด สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือไซเตสที่ห้ามการค้านอแรดระหว่างประเทศเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ.2520 ขณะที่ พ.ศ.2537 เกิดสงครามกลางเมืองในเยเมน ทั้ง 2 เหตุการณ์เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความต้องการนอแรดลดลง ซึ่งทำให้การล่าแรดลดน้อยลงไปด้วย รวมทั้งหลายประเทศในเอเชียขณะนั้น ประกาศห้ามใช้นอแรดเป็นส่วนผสมในยา และมีการควบคุมอย่างเข้มงวด
สงครามปกป้องแรดรอบใหม่
ในปีพ.ศ. 2551 การล่าแรดเพื่อเอานอพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง โดยตลาดหลักที่ต้องการนอแรดคือ เวียดนาม และจีน ขณะที่ในช่วงปี พ.ศ. 2557 กลุ่มอาชญากรรมเวียดนามได้แสวงหาผลประโยชน์จากการล่าสัตว์เพื่อกีฬาที่ถูกกฎหมายในแอฟริกาใต้ ลักลอบส่งออกนอแรดไปยังเวียดนาม นอกจากนั้นชาวจีนจำนวนมากขึ้นที่เข้าไปลงทุนในทวีปแอฟริกา ทำให้เป็นที่ต้องสงสัยว่า ชาวจีนจำนวนหนึ่งลักลอบนำนอแรดส่งออกไปยังจีนเช่นกัน ปัจจัยเหล่านี้ทำให้หลายฝ่ายมองว่า นี่คือสงครามที่ทุกฝ่ายจะต้อง ร่วมมือกันเพื่อปกป้องประชากรแรดรอบใหม่