มารีญา-ป้อง ณวัฒน์ เตือนกินเมนูฉลามระวังทำ ‘ทะเลคลั่ง’ ในโฆษณาชิ้นล่าสุด

มารีญา-ป้อง ณวัฒน์ เตือนกินเมนูฉลามระวังทำ ทะเลคลั่ง’ ในโฆษณาชิ้นล่าสุดโดยองค์กรไวล์ดเอด

14 ก.ค. 2565 – องค์กรไวล์ดเอด เผยแพร่โฆษณารณรงค์ชิ้นล่าสุด “ทะเลคลั่ง” เนื่องในวันรู้จักฉลาม (Shark Awareness Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 14 กรกฎาคมของทุกปี ตอกย้ำความสำคัญของฉลามที่มีต่อทะเล และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับระบบนิเวศจากความต้องการบริโภคฉลาม พร้อมเปิดตัวคุณมารีญา พูลเลิศลาภ มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ ปี 2017 นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม และผู้ชื่นชอบการดำน้ำ เป็นทูตฉลามคนล่าสุดร่วมกับคุณป้อง ณวัฒน์ กุลรัตนรักษฺ์ เพื่อช่วยขับเคลื่อนโครงการรณรงค์ #ฉลองไม่ฉลาม ให้เข้มข้นยิ่งขึ้น โดยโครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมประมง 

เนื้อหาโฆษณารณรงค์ ‘ทะเลคลั่ง’แสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการบริโภคเมนูจากฉลาม โดยเมื่อฉลามซึ่งเป็นสัตว์ที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหารหายไปกลายเป็นเมนูอาหาร ท้องทะเลอาจปั่นป่วน เพราะสัตว์ทะเลระดับรองๆที่เหลืออยู่ไม่อยู่กับร่องกับรอยจนทำให้ทะเลเสียสมดุล โดยเนื้อหาของโฆษณาได้รับแรงบันดาลใจจากผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก สหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2548 ที่พบว่า เมื่อฉลามในแนวปะการังทะเลแคริบเบียนถูกจับมากเกินไปและมีจำนวนลดน้อยลง จะเกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ และอาจทำให้แนวปะการังฟื้นตัวจากปัจจัยคุกคามอื่นๆ ที่เกิดจากมนุษย์ได้ยากลำบาก

“เมื่อก่อนมารีญาเคยกลัวฉลาม เพราะภาพจำของฉลามในสื่อต่างๆ แต่เมื่อได้เริ่มดำน้ำ ทำให้มารีญาเข้าใจในบทบาทของฉลามที่มีต่อทะเลและรับรู้ภัยคุกคามจากมนุษย์ที่ทำให้ฉลามหลายชนิดกำลังเสี่ยงสูญพันธุ์ ทะเลที่ไม่มีฉลาม จะขาดความสมดุลและเป็นสิ่งที่เราควรจะกลัวมากกว่าเหมือนอย่างในโฆษณาชิ้นนี้ ทุกวันนี้ หมดยุคเมนูฉลามแล้ว และมารีญาหวังว่า จะช่วยสื่อสารให้คนทั่วไปเข้าใจบทบาทของฉลามในระบบนิเวศมากขึ้น” คุณมารีญา พูลเลิศลาภ ทูตฉลามองค์กรไวล์ดเอด กล่าว

“การเปลี่ยนแปลงค่านิยมการบริโภคต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจถึงความสำคัญของฉลามที่มีต่อทะเล งานวิจัยในระยะหลังชี้ให้เห็นถึงผลกระทบจากการหายไปของฉลาม หรือการที่ฉลามเหลือน้อย จนนำมาซึ่งการสูญพันธุ์ของสัตว์กลุ่มรองๆ และกระทบถึงความสมบูรณ์ของปะการัง การฟื้นฟูระบบนิเวศต้องอาศัยห่วงโซ่อาหารที่สมบูรณ์ ดังนั้นฉลามหรือกระเบนที่เป็นสัตว์ผู้ล่าที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะช่วยให้ระบบนิเวศทำงานได้ตามปกติ” ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ และที่ปรึกษาองค์กรไวล์เอด ในประเทศไทย กล่าว

ผลการสำรวจความต้องการบริโภคหูฉลามในไทย พ.ศ. 2561 ขององค์กรไวล์ดเอดพบ คนไทยเขตเมืองมากกว่า 60% ยังต้องการบริโภคหูฉลามในอนาคต โดยบริโภคบ่อยที่สุดในงานฉลองต่างๆ นั่นคือ งานแต่งงาน งานรวมญาติ และงานเลี้ยงธุรกิจ ซึ่งเป็นที่มาของโครงการรณรงค์ #ฉลองไม่ฉลาม “เราทุกคนมีส่วนร่วมปกป้องฉลามได้ง่ายๆ ด้วยการแชร์โฆษณาชิ้นใหม่นี้ให้ทุกคนเห็น ช่วยกันบอกเพื่อนและคนในครอบครัวให้เข้าใจถึงความสำคัญของฉลาม เพราะเมื่อเรารู้บทบาทหน้าที่ของเค้าในธรรมชาติแล้ว เราจะอยากปกป้องเค้ามากขึ้น’ คุณณวัฒน์ กุลรัตนรักษ์​ ทูตฉลามซึ่งได้ร่วมรณรงค์ในโครงการ #ฉลองไม่ฉลาม มาครบ 4 ปีแล้ว  

การประเมินสถานภาพทางการอนุรักษ์ของฉลามในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2563 โดยสำนักงานนโยบายและแผน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พบว่า ฉลามที่พบได้ในน่านน้ำไทยกว่าครึ่ง หรือ 47 ชนิด จาก 87 ชนิด มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable) ไปจนถึงใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically endangered) จากการทำประมงเกินขนาดและการถูกจับเป็นสัตว์น้ำพลอยได้ ส่วนการประเมินความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของปลาฉลามและปลากระเบน ทั่วโลกครั้งใหม่ โดยองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ที่เผยแพร่ในเดือนกันยายนปีที่แล้ว พบว่า 1 ใน 3 ของสายพันธุ์ฉลามและกระเบนทั่วโลก กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์จากการจับปลาเกินขนาดเพื่อนำทุกชิ้นส่วนไปบริโภค

“ฉลามไม่ใช่สัตว์น้ำเศรษฐกิจ และไม่ใช่สัตว์น้ำเป้าหมายหลักในการทำประมง จึงไม่มีเครื่องมือประมงประเภทใดในประเทศไทยที่มุ่งจับฉลาม แต่ในทางกลับกันฉลามเป็นสัตว์น้ำที่มีความสำคัญอย่างมากในการรักษาสมดุลของระบบนิเวศทางทะเล กรมประมงตระหนักถึงความสำคัญนี้ จึงเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำและขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการฉลามของประเทศไทย (NPOA-Sharks) เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานด้านบริหารจัดการทรัพยากรและการอนุรักษ์ฉลาม ร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วน พร้อมทั้งแสวงหาความร่วมมือกับภาคประชาชน โดยการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้และตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ฉลาม” คุณเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง กล่าว

“การอนุรักษ์ฉลามนอกจากจิตสำนึกแล้วยังต้องเร่งผลักดันด้านกฎหมายเพื่อคุ้มครองฉลามที่ใกล้สูญพันธุ์ ควบคู่ไปกับการสร้างความรู้ความเข้าใจต่อเยาวชนคนรุ่นใหม่ และคนรุ่นเก่าที่ยังมีค่านิยมผิดๆที่คิดว่าเมนูจากฉลามคือสุดยอดของอาหาร ซึ่งไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ประชากรฉลามในปัจจุบันอีกต่อไป กรม ทช.ขอเน้นย้ำความสำคัญของการเลิกบริโภคทุกๆ เมนูและผลิตภัณฑ์จากฉลามในทุกๆ โอกาสเพื่อรักษาความสมดุลแห่งท้องทะเลไทยสืบไป” คุณโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าว

 นอกจากนี้ องค์กรไวล์ดเอดเตรียมจัดกิจกรรมเพื่อลดความต้องการบริโภคฉลามอย่างต่อเนื่องในปีนี้ร่วมกับภาคีในภาคส่วนต่างๆ และได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรสื่อโฆษณานอกบ้านชั้นนำของไทยที่รวมถึงบริษัท แบงคอก เมโทร เน็ทเวิร์คส์ (บีเอ็มเอ็น)  บริษัทแพลน บี มีเดีย และ บริษัทเจซีเดอโก (ประเทศไทย) ร่วมเผยแพร่สื่อรณรงค์ชุดใหม่ภายใต้โครงการ #ฉลองไม่ฉลาม ให้เข้าถึงคนไทยในจุดสำคัญๆ ทั่วประเทศอีกด้วย


โครงการรณรงค์ #ฉลองไม่ฉลาม รวมถึงโฆษณา ‘ทะเลคลั่ง’ สร้างสรรค์โดยบริษัท #BBDOBangkok เอเจนซี่โฆษณาแถวหน้าของไทย ให้กับองค์กรไวลด์เอด

ติดตามโครงการรณรงค์ของไวล์ดเอดได้ทุกช่องทาง 

Facebook   | WildAidThailand 

Instagram | @WildAidThailand 

Twitter      | @WildAidThailand 

TikTok       | @WildAidThailand

ใส่ความเห็น

Your email address will not be published. Required fields are marked (required)