ไวล์ดเอดเปิดตัวโครงการวิทยาศาสตร์พลเมือง “Spot the Leopard Shark – Thailand” ในงาน Thailand Dive Expo (TDEX) 2024 ชวนนักดำน้ำอัปโหลดภาพถ่ายฉลามเสือดาว

กรุงเทพฯ (16 พฤษภาคม 2567) – องค์กรไวล์ดเอด (WildAid) ได้ร่วมกับ Ocean Blue Tree สานต่อโครงการ “Spot the Leopard Shark – Thailand” และเปิดตัวอย่างไม่เป็นทางการในงาน Thailand Dive Expo (TDEX) 2024 บูธ C76-77 ฮอลล์ 6 วันที่ 16-19 พฤษภาคม 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ร่วมกับโครงการวิทยาศาสตร์พลเมือง (Citizen Science) พันธมิตรทั้ง 5 โครงการ

โครงการ “Spot the Leopard Shark – Thailand” เริ่มต้น ณ เกาะพีพี ประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2556 ด้วยความร่วมมือระหว่าง ดร.คริสติน ดัดเจียน (Dr. Christine Dudgeon) จากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย และดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ จากศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน เพื่อเก็บข้อมูลฉลามเสือดาว (Stegostoma tigrinum) ในน่านน้ำไทย ด้วยการขอความร่วมมือและรวบรวมภาพถ่ายจากศูนย์ดำน้ำหลายแห่งและบุคคลทั่วไป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างฐานข้อมูลฉลามเสือดาวสำหรับนักวิทยาศาสตร์เพื่อใช้ในการศึกษาเรียนรู้และวิจัยเพื่อการอนุรักษ์ในอนาคต

ภายในพื้นที่จัดแสดงประกอบไปด้วยกิจกรรมการเรียนรู้เกี่ยวกับโครงการวิทยาศาสตร์พลเมือง (Citizen Science) และสิ่งที่นักดำน้ำจะสามารถช่วยในการอนุรักษ์ทะเลและสิ่งมีชีวิตในทะเลได้ผ่านทั้ง 6 โครงการพันธมิตร ได้แก่ โครงการขอความร่วมมืออัปโหลดภาพถ่าย “ฉลามเสือดาว” Spot the Leopard Shark – Thailand, โครงการขอความร่วมมืออัปโหลดภาพถ่าย “ฉลามวาฬ” New Heaven Reef Conservation Program, โครงการขอความร่วมมืออัปโหลดภาพถ่าย “แมนต้า” Manta Trust Thailand Manta Project, โครงการขอความร่วมมืออัปโหลดภาพถ่าย “ทากทะเล” Sea Slug Thailand, โครงการขอความร่วมมืออัปโหลดภาพถ่าย “เต่าทะเล” และโครงการขอความร่วมมืออัปโหลดภาพถ่าย “ขยะอวนในทะเล” ATMEC – Aow Thai Marine Ecology Center โดยมีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญคอยให้ความรู้ แนะนำถึงที่มาความสำคัญของโครงการ และขั้นตอนวิธีการถ่ายภาพฉลามเสือดาวเพื่อช่วยนักวิทยาศาสตร์ในการระบุตัวตน รวมถึงการประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้นักดำน้ำส่งรูปถ่ายฉลามเสือดาวผ่าน Google form ของโครงการเพื่อรับของที่ระลึกที่ออกแบบพิเศษมาเพื่องานนี้โดยเฉพาะ

“ฉลามเสือดาวเป็นสัตว์ที่สำคัญมากต่อระบบนิเวศทางทะเล แต่พวกมันกำลังหายากขึ้น จากข้อมูลของ Shark survey ปี 2014 พบว่า ฉลามเสือดาวเคยติดอวนลากอยู่เรื่อย ๆ แต่ในช่วงหลังแทบจะหายไปเลย” คุณเมธาวี จึงเจริญดี ผู้จัดการโครงการอนุรักษ์วิจัยและฟื้นฟูประชากรฉลามเสือดาว องค์กรไวล์ดเอด เล่าให้เราฟังถึงความน่าเป็นห่วงของการหายไปของฉลามเสือดาวและความสำคัญของโครงการนี้บนเวที TDEX DIVER’S TALK ในหัวข้อ “ตามหาฉลามเสือดาว – เส้นทางสู่ความเข้าใจและการอนุรักษ์” ร่วมกับดร.เพชร มโนปวิตร ที่ปรึกษาองค์กรไวล์ดเอด, คุณชิน ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย ช่างภาพสื่อมวลชนและนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล, และคุณนัท สุมนเตมีย์ ช่างภาพสารคดีใต้น้ำ โดยมีคุณแนนซี่ ลินน์ กิ๊บสัน ผู้ก่อตั้งมูลนิธิรักสัตว์ป่า (Love Wildlife Foundation) ดำเนินการเสวนา

นอกจากนี้ภายในงานยังมีกิจกรรมระบายสีทำความรู้จักฉลามเสือดาวสำหรับเด็ก ที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้ร่วมสนุกและเรียนรู้เกี่ยวกับลักษณะนิสัย พฤติกรรม ถิ่นที่อยู่ และสถานะของฉลามเสือดาวในปัจจุบัน ที่นอกจากจะสร้างความสนุกแล้ว ยังมีจุดประสงค์เพื่อช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และฝึกการสังเกตให้เด็ก ๆ ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย 

โครงการได้รับความสนใจเป็นอันดีจากผู้เข้าชมงาน ประกอบไปด้วย นักดำน้ำ ครูสอนดำน้ำ ผู้ประกอบกิจการดำน้ำและองค์กรต่าง ๆ ที่ร่วมมาพูดคุยและแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นกับเราตลอดระยะเวลา 4 วันการจัดงาน รวมถึงผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ในวงการดำน้ำและการอนุรักษ์ทะเลและสัตว์ทะเลร่วมช่วยสื่อสารข้อมูลและประชาสัมพันธ์ ทำให้โครงการบรรลุเป้าหมายและสามารถรวบรวมภาพถ่ายและวิดีโอฉลามเสือดาวในประเทศไทยได้ทั้งหมดกว่า 90 ภาพภายในงาน

ปัจจุบันฉลามเสือดาว (Stegostoma tigrinum) มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (EN) ตามการประเมินของ IUCN Red List ฉลามเสือดาวมักอาศัยอยู่ตามพื้นที่แนวหินและแนวปะการัง เมื่อแนวปะการังมีความเสื่อมโทรม สัตว์ทะเลที่เป็นอาหารของฉลามเสือดาวจึงลดน้อยลงไปด้วย ส่งผลให้ฉลามเสือดาวอาจสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยและหายไปจากแนวปะการัง จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่ในการรวบรวมภาพถ่ายฉลามเสือดาวเพื่อศึกษาถึงพฤติกรรมและแหล่งที่อยู่ของฉลามเสือดาวในน่านน้ำไทยเพื่อประกอบการวางแผนในการอนุรักษ์ฉลามเสือดาวต่อไปได้ในอนาคต

ใส่ความเห็น

Your email address will not be published. Required fields are marked (required)