SHARKS
ในปี 2018 องค์กรไวล์ดเอดเปิดตัวโครงการ ‘ฉลองไม่ฉลาม’ เพื่อลดความต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์จากปลาฉลามในประเทศไทย ผ่านการสื่อสารเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เน้นรณรงค์ไปที่วาระโอกาสที่คนไทยบริโภคหูฉลามมากที่สุด นั่นคือ งานฉลองต่าง ๆ และสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของปลาฉลามที่มีต่อระบบนิเวศในท้องทะเล โดยมีคุณป้อง ณวัฒน์ กุลรัตนรักษ์ และคุณมารีญา พูลเลิศลาภ เป็นทูตโครงการฉลาม นอกเหนือจากโครงการรณรงค์ เรายังทำงานร่วมกับนักวิจัยในการสนับสนุนงานวิจัยเพื่อสื่อสารไปถึงผู้บริโภค ผลักดันข้อเสนอแนะในระดับนโยบาย และทำงานร่วมกับภาครัฐและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อสนับสนุนแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่อการอนุรักษ์และการบริหารจัดการฉลามของประเทศไทย (NPOA-Sharks, Thailand)
ในปี 2023 องค์กรไวล์ดเอดร่วมกับทีมนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) นักวิจัยอิสระ และกรมประมง เผยผลการระบุชนิดพันธุ์ปลาฉลามจากผลิตภัณฑ์หูฉลามที่ขายในประเทศไทย โดยใช้เทคนิคชีวโมเลกุล หรือดีเอ็นเอ เพื่อทำความเข้าใจชนิดพันธุ์และสถานภาพทางการอนุรักษ์ ผลการศึกษาพบชนิดพันธุ์ฉลามอย่างน้อย 15 ชนิดพันธุ์ในผลิตภัณฑ์หูฉลามที่ขายในไทย โดย 62% มาจากปลาฉลามที่มีสถานภาพเสี่ยงสูญพันธุ์ ตามการประเมินสถานภาพเสี่ยงสูญพันธุ์ตามบัญชีแดงของ IUCN Red List
องค์กรไวล์ดเอดและบริษัทวิจัยแรพพิด เอเชีย (Rapid Asia) จัดทำผลสํารวจความต้องการบริโภคหูฉลามของคนไทยในเขตเมืองทั่วประเทศครั้งที่สองในปี 2023 และพบว่า การบริโภคหูฉลามของคนไทยในเขตเมืองมีแนวโน้มลดลงในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาเทียบกับการสำรวจเมื่อปี 2017 โดยผู้บริโภคที่ยังกินหูฉลามในรอบ 12 เดือน มีจํานวนลดลง 27.5% นอกจากนี้คนไทยที่บริโภคหูฉลามเป็นคร้ังคราวต้ังแต่ 2-5 คร้ังต่อปี มีจํานวนลดลงถึง 47% ผลสำรวจบ่งชี้ว่า โครงการรณรงค์ เช่น #ฉลองไม่ฉลาม มีส่วนทำให้ความต้องการบริโภคลดลง
ผลสำรวจครั้งล่าสุดยังพบว่า คนไทยในเขตเมืองบริโภคหูฉลามบ่อยที่สุดในร้านอาหารกับครอบครัว (60%) ตามด้วยงานแต่งงาน (57%) สังสรรค์กับเพื่อนใน ร้านอาหาร (46%) และงานรวมญาติในช่วงเทศกาลตรุษจีน (42%) และยังมีคนไืทยมากกว่าครึ่ง (56%) ที่ต้องการบริโภคหูฉลามในอนาคต บ่งชี้ว่า ประเทศไทยยังคงเป็นตลาดผู้บริโภคหูฉลามที่สําคัญ
ปลาฉลาม คือผู้รักษาความสมดุลของระบบนิเวศในทะเล หากฉลามหายไป ระบบนิเวศอาจถูกทำลาย
หมดยุคเมนูฉลาม เมนูคุกคามระบบนิเวศ