2024
“องค์กรอนุรักษ์ยื่นหนังสือชวนรัฐสภา #ฉลองไม่ฉลาม เลิกเสิร์ฟเมนูฉลามในทุก ๆ โอกาส”
องค์กร WildAid และ Love Wildlife ยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงรัฐสภาเพื่อขอความร่วมมือให้เลิกเสิร์ฟหูฉลามในรัฐสภา
2023
ไวล์ดเอด-ทีมนักวิจัยเผยผลวิจัยดีเอ็นเอพบหูฉลามที่ขายในไทยกว่า 60% มาจากฉลามที่เสี่ยงสูญพันธุ์
ไวล์ดเอด-ทีมนักวิจัยเผยผลวิจัยดีเอ็นเอพบหูฉลามที่ขายในไทยกว่า 60% มาจากฉลามที่เสี่ยงสูญพันธุ์
14 กรกฎาคม 2566 – เนื่องในวันรู้จักฉลาม ซึ่งตรงกับวันที่ 14 กรกฎาคมของทุกปี องค์กรไวล์เอด (WildAid) ร่วมกับทีมนักวิจัยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กรมประมง และนักวิจัยอิสระ เผยผลการศึกษาดีเอ็นเอจากผลิตภัณฑ์หูฉลามที่ขายในไทยพบ ชนิดพันธุ์ฉลามส่วนใหญ่ (62%) มีสถานภาพเสี่ยงสูญพันธุ์ ชวนทุกคน #ฉลองไม่ฉลาม ในทุก ๆ โอกาส
นักวิจัยสจล. ร่วมกับกรมประมงเก็บตัวอย่างครีบปลาฉลาม 206 ตัวอย่างจากแหล่งค้าในหลายจังหวัด โดยผลการระบุชนิดพันธุ์ปลาฉลามจากผลิตภัณฑ์หูฉลามที่พบค้าขายอยู่ใน ไทยโดยใช้เทคนิคชีวโมเลกุล พบฉลามอย่างน้อย 15 ชนิดพันธุ์ ซึ่งชนิดพันธุ์ของฉลามส่วนใหญ่ (62%) ที่พบในหูฉลามที่ขายอยู่ในไทยมีสถานภาพถูกคุกคามจากการจัดสถานภาพความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ตามบัญชีแดงของ IUCN Red List
ฉลามหางจุด หรือ Spottail Shark (Carcharhinus sorrah) พบในตัวอย่างหูฉลามเป็นสัดส่วนมากที่สุด มีสถานภาพใกล้ถูกคุกคาม (NT) ในระดับโลก แต่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ไปจากน่านน้ำไทยจากการประเมินใน Thailand Red Data นอกจากนี้พบปลาฉลามหัวค้อน สองชนิดพันธุ์ คือ ฉลามหัวค้อนสีน้ำเงิน หรือ Scalloped Hammerhead Shark (Sphyrna lewini) และ ฉลามหัวค้อนใหญ่ หรือ Great Hammerhead Shark (Sphyrna mokarran) ที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (CR) จากการประเมินสถานภาพในระดับโลก และในไทย ซึ่งทั้ง 2 ชนิดพันธุ์อยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของไทย
งานวิจัยดังกล่าว ถือเป็นการศึกษาที่ระบุชนิดพันธุ์ปลาฉลามจากผลิตภัณฑ์หูฉลามครั้งแรกในประเทศไทย และได้รับการเผยแพร่ใน วารสาร Conservation Genetics โดยผลการศึกษาตอกย้ำว่า หูฉลามในถ้วยซุปอาจมาจากฉลามที่กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์ และยังสะท้อน ว่าตลาดค้าครีบฉลามในประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการนําเข้าผลิตภัณฑ์ครีบฉลามมาจากหลายแหล่ง นอกจากนี้พบปลาฉลามที่มีสถานภาพ ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง ใกล้สูญพันธุ์ และมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ ในครีบที่มีขนาดเล็กซึ่งมีโอกาสเป็นครีบจากฉลามวัยอ่อนอีกด้วย
“การพบชนิดพันธุ์ฉลามที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ ไปจนถึงใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งในผลิตภัณฑ์หูฉลามที่ขายอยู่ในไทย สะท้อนให้เห็นถึงการใช้ประโยชน์จากฉลาม โดยเฉพาะชนิดพันธุ์ที่ต้องการการอนุรักษ์อย่างเร่งด่วน และการพบชนิดพันธุ์ที่มีสถานภาพถูกคุกคาม ตาม IUCN Red List ในครีบขนาดเล็ก ทำให้ต้องมีการศึกษาการใช้ประโยชน์จากฉลามวัยอ่อนต่อไป เนื่องจากปลาฉลามวัยอ่อนจะเป็นกลุ่มประชากรที่สำคัญในการฟื้นตัวของประชากรปลาฉลามในอนาคต” ผศ.ดร.วัลย์ลดา กลางนุรักษ์ ผู้วิจัยและอาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีการผลิตสัตว์และประมง คณะเทคโนโลยีการเกษตร สจล. กล่าว
ปัจจุบัน 1 ใน 3 ของชนิดพันธุ์ปลาฉลามและกระเบนทั่วโลกตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์จากการทำประมงมากเกินขนาด เพราะความต้องการนำทุกชิ้นส่วนไปบริโภค สอดคล้องกับการลดลงของประชากรฉลามในหลายส่วนทั่วโลก นอกจากนี้ผลการสำรวจความต้องการบริโภคหูฉลามในประเทศไทยโดยองค์กรไวล์ดเอดปีพ.ศ. 2560 พบคนไทยในเขตเมืองทั่วประเทศมากกว่า 60% ต้องการบริโภคหูฉลามในอนาคต เพราะความอยากรู้ อยากลอง และค่านิยมเดิม ๆ ของการบริโภคเมนูจากฉลามในงานฉลอง
“ในช่วง 20ปี มานี้ งานวิจัยหลายชิ้นเห็นตรงกันว่าประชากรฉลามหลายชนิดลดลงอย่างมากทั่วโลกรวมถึงในไทย จากอัตราการจับและการใช้ประโยชน์จากปลาฉลามที่มากเกินกว่าความสามารถในการฟื้นตัวของประชากรพวกมันในท้องทะเล ผลของงานวิจัยชิ้นนี้ยังช่วยยืนยันว่า ประเทศไทยเป็น 1 ในผู้เล่นสำคัญในการนำเข้าและส่งออกหูฉลามในภูมิภาค สอดคล้องกับรายงานฉบับอื่นที่พูดถึงบทบาทการกระจายผลิตภัณฑ์หูฉลามของไทยในท้องตลาดในระดับสากล ถึงแม้ว่าในปัจจุบันการจับฉลามมาตัดครีบเป็นๆก่อนทิ้งร่างกายที่เหลือลงทะเลจะลดน้อยลงมากแล้วในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่หูฉลามจำนวนมากมาจากฉลามที่ถูกจับจากเครื่องมือประมงทั่วไปก็ตาม แต่ก็ปฏิเสธได้ยากถึงบทบาทของอุตสาหกรรมหูฉลามที่ส่งผลต่อประชากรปลาฉลามหลายชนิดที่ถูกคุกคามจนเสี่ยงต่อการสูญพันธ์และกระทบโครงสร้างของประชากรปลาฉลามไปแล้วหลายชนิดในอดีตรอบโลก” นายศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย ช่างภาพสื่อมวลชน นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และทีมนักวิจัย กล่าว
“ผลวิจัยสะท้อนชัดเจนว่าซุปหูฉลามที่ถูกเสิร์ฟนั้นอาจมาจากฉลามที่กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์ แถมอาจจะเป็นฉลามวัยเด็กอีกด้วย ถ้าให้เปรียบก็เหมือนกับเรากำลังกินเสือหรือแม้แต่ลูกเสือที่มีความสำคัญต่อการดำรงอยู่ของป่า การบริโภคของเราทุกคนจึงมีส่วนกำหนดชะตากรรมของฉลามหลายชนิดและย่อมส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงความสมดุลของท้องทะเลในที่สุด จริงๆแล้วการบริโภคที่ยั่งยืนเริ่มต้นได้ง่ายที่สุดด้วยการหยุดบริโภคฉลามโดยเด็ดขาด” ดร. เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ ที่ปรึกษาองค์กรไวล์ดเอด และผู้ร่วมเขียนงานวิจัยกล่าว
“ฉลามเป็นสัตว์น้ำที่มีความสำคัญอย่างมากในการรักษาสมดุลของระบบนิเวศทางทะเล กรมประมงตระหนักถึงความสำคัญนี้ และเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำและขับเคลื่อน แผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการฉลาม ของประเทศไทย (NPOA-Sharks) เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานด้านบริหารจัดการทรัพยากรและการอนุรักษ์ฉลาม ร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วน ซึ่งรวมถึงการเก็บข้อมูลฉลามจากการส่งออกและนำเข้า และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากฉลาม กรมประมงยืนยันว่าจะให้ความสำคัญกับมาตรการเพื่อควบคุมติดตามและตรวจสอบการค้าฉลามชนิดพันธุ์ที่อยู่ในบัญชีของอนุสัญญาไซเตสเพื่อการใช้ประโยชน์จากฉลามอย่างยั่งยืนต่อไป“ นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง กล่าว
องค์กรไวล์ดเอดเตรียมดำเนินกิจกรรมเพื่อสร้างความตระหนักต่อผู้บริโภคถึงผลกระทบจากการบริโภคเมนูจากฉลามจากผลการศึกษาดังกล่าวอย่างต่อเนื่องในปีนี้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้มีการจัดประชุมเสริมสร้างศักยภาพของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่อการอนุรักษ์ฉลามฯ อาทิ กลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยว กลุ่มชาวประมง และหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อมุ่งสร้างการมีส่วนร่วมและผลักดันการอนุรักษ์ฉลามอย่างยั่งยืนต่อไป
ผลวิจัยที่สำคัญ
- ผลการตรวจดีเอ็นเอในหูฉลาม หรือครีบปลาฉลาม 206 ตัวอย่าง ที่เก็บจากแหล่งค้าในหลายจังหวัด พบฉลามอย่างน้อย 15 ชนิดพันธุ์
- ปลาฉลามส่วนใหญ่ (62%) ที่พบในหูฉลามที่ขายอยู่ในไทยมาจากฉลามที่เสี่ยงสูญพันธุ์ โดยมีสถานภาพถูกคุกคามจากการจัดสถานภาพความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ตามบัญชีแดงขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือ IUCN Red List โดยพบฉลามที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (VU) 6 ชนิดพันธุ์ ใกล้สูญพันธุ์ (EN) 4 ชนิดพันธุ์ และใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (CR) 3 ชนิดพันธุ์
- เมื่อพิจารณาเฉพาะชนิดพันธุ์ที่พบการแพร่กระจายในประเทศไทยตามการประเมินชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม Thailand Red Data โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พบว่ากว่า 80% ของปลาฉลามที่พบในผลิตภัณฑ์ครีบฉลาม ครั้งนี้อยู่ในสถานภาพที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (VU)
- พบฉลามที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (CR) ทั้งในระดับโลกและในไทยที่หลายคนรู้จัก เช่น ฉลามหัวค้อนสีน้ำเงิน Scalloped hammerhead (Sphyrna lewini) และ ฉลามหัวค้อนใหญ่ Great hammerhead (Sphyrna mokarran) ซึ่งอยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของไทย และเป็นชนิดพันธุ์ควบคุมในบัญชีหมายเลข 2 ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ หรือไซเตสอีกด้วย
- พบหูฉลามที่มีขนาดเล็ก มาจากปลาฉลามที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (CR) ใกล้สูญพันธุ์ (EN) และมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (VU) และมีโอกาสเป็นครีบจากฉลามวัยอ่อน
- ตลาดค้าหูฉลามในประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการนําเข้าผลิตภัณฑ์ครีบฉลามมาจากหลายแหล่ง ทําให้พบชนิดพันธุ์ฉลามที่หลากหลาย โดยราว 1 ใน 3 ของชนิดปลาฉลามที่พบในงานวิจัยเป็นฉลามที่ไม่ปรากฎพบในน่านน้ำไทย
2022
มารีญา-ป้อง ณวัฒน์ เตือนกินเมนูฉลามระวังทำ ‘ทะเลคลั่ง’ ในโฆษณาชิ้นล่าสุด
มารีญา-ป้อง ณวัฒน์ เตือนกินเมนูฉลามระวังทำ ‘ทะเลคลั่ง’ ในโฆษณาชิ้นล่าสุดโดยองค์กรไวล์ดเอด
14 ก.ค. 2565 – องค์กรไวล์ดเอด เผยแพร่โฆษณารณรงค์ชิ้นล่าสุด “ทะเลคลั่ง” เนื่องในวันรู้จักฉลาม (Shark Awareness Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 14 กรกฎาคมของทุกปี ตอกย้ำความสำคัญของฉลามที่มีต่อทะเล และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับระบบนิเวศจากความต้องการบริโภคฉลาม พร้อมเปิดตัวคุณมารีญา พูลเลิศลาภ มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ ปี 2017 นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม และผู้ชื่นชอบการดำน้ำ เป็นทูตฉลามคนล่าสุดร่วมกับคุณป้อง ณวัฒน์ กุลรัตนรักษฺ์ เพื่อช่วยขับเคลื่อนโครงการรณรงค์ #ฉลองไม่ฉลาม ให้เข้มข้นยิ่งขึ้น โดยโครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมประมง
เนื้อหาโฆษณารณรงค์ ‘ทะเลคลั่ง’แสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการบริโภคเมนูจากฉลาม โดยเมื่อฉลามซึ่งเป็นสัตว์ที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหารหายไปกลายเป็นเมนูอาหาร ท้องทะเลอาจปั่นป่วน เพราะสัตว์ทะเลระดับรองๆที่เหลืออยู่ไม่อยู่กับร่องกับรอยจนทำให้ทะเลเสียสมดุล โดยเนื้อหาของโฆษณาได้รับแรงบันดาลใจจากผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก สหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2548 ที่พบว่า เมื่อฉลามในแนวปะการังทะเลแคริบเบียนถูกจับมากเกินไปและมีจำนวนลดน้อยลง จะเกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ และอาจทำให้แนวปะการังฟื้นตัวจากปัจจัยคุกคามอื่นๆ ที่เกิดจากมนุษย์ได้ยากลำบาก
“เมื่อก่อนมารีญาเคยกลัวฉลาม เพราะภาพจำของฉลามในสื่อต่างๆ แต่เมื่อได้เริ่มดำน้ำ ทำให้มารีญาเข้าใจในบทบาทของฉลามที่มีต่อทะเลและรับรู้ภัยคุกคามจากมนุษย์ที่ทำให้ฉลามหลายชนิดกำลังเสี่ยงสูญพันธุ์ ทะเลที่ไม่มีฉลาม จะขาดความสมดุลและเป็นสิ่งที่เราควรจะกลัวมากกว่าเหมือนอย่างในโฆษณาชิ้นนี้ ทุกวันนี้ หมดยุคเมนูฉลามแล้ว และมารีญาหวังว่า จะช่วยสื่อสารให้คนทั่วไปเข้าใจบทบาทของฉลามในระบบนิเวศมากขึ้น” คุณมารีญา พูลเลิศลาภ ทูตฉลามองค์กรไวล์ดเอด กล่าว
“การเปลี่ยนแปลงค่านิยมการบริโภคต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจถึงความสำคัญของฉลามที่มีต่อทะเล งานวิจัยในระยะหลังชี้ให้เห็นถึงผลกระทบจากการหายไปของฉลาม หรือการที่ฉลามเหลือน้อย จนนำมาซึ่งการสูญพันธุ์ของสัตว์กลุ่มรองๆ และกระทบถึงความสมบูรณ์ของปะการัง การฟื้นฟูระบบนิเวศต้องอาศัยห่วงโซ่อาหารที่สมบูรณ์ ดังนั้นฉลามหรือกระเบนที่เป็นสัตว์ผู้ล่าที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะช่วยให้ระบบนิเวศทำงานได้ตามปกติ” ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ และที่ปรึกษาองค์กรไวล์เอด ในประเทศไทย กล่าว
ผลการสำรวจความต้องการบริโภคหูฉลามในไทย พ.ศ. 2561 ขององค์กรไวล์ดเอดพบ คนไทยเขตเมืองมากกว่า 60% ยังต้องการบริโภคหูฉลามในอนาคต โดยบริโภคบ่อยที่สุดในงานฉลองต่างๆ นั่นคือ งานแต่งงาน งานรวมญาติ และงานเลี้ยงธุรกิจ ซึ่งเป็นที่มาของโครงการรณรงค์ #ฉลองไม่ฉลาม “เราทุกคนมีส่วนร่วมปกป้องฉลามได้ง่ายๆ ด้วยการแชร์โฆษณาชิ้นใหม่นี้ให้ทุกคนเห็น ช่วยกันบอกเพื่อนและคนในครอบครัวให้เข้าใจถึงความสำคัญของฉลาม เพราะเมื่อเรารู้บทบาทหน้าที่ของเค้าในธรรมชาติแล้ว เราจะอยากปกป้องเค้ามากขึ้น’ คุณณวัฒน์ กุลรัตนรักษ์ ทูตฉลามซึ่งได้ร่วมรณรงค์ในโครงการ #ฉลองไม่ฉลาม มาครบ 4 ปีแล้ว
การประเมินสถานภาพทางการอนุรักษ์ของฉลามในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2563 โดยสำนักงานนโยบายและแผน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พบว่า ฉลามที่พบได้ในน่านน้ำไทยกว่าครึ่ง หรือ 47 ชนิด จาก 87 ชนิด มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable) ไปจนถึงใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically endangered) จากการทำประมงเกินขนาดและการถูกจับเป็นสัตว์น้ำพลอยได้ ส่วนการประเมินความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของปลาฉลามและปลากระเบน ทั่วโลกครั้งใหม่ โดยองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ที่เผยแพร่ในเดือนกันยายนปีที่แล้ว พบว่า 1 ใน 3 ของสายพันธุ์ฉลามและกระเบนทั่วโลก กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์จากการจับปลาเกินขนาดเพื่อนำทุกชิ้นส่วนไปบริโภค
“ฉลามไม่ใช่สัตว์น้ำเศรษฐกิจ และไม่ใช่สัตว์น้ำเป้าหมายหลักในการทำประมง จึงไม่มีเครื่องมือประมงประเภทใดในประเทศไทยที่มุ่งจับฉลาม แต่ในทางกลับกันฉลามเป็นสัตว์น้ำที่มีความสำคัญอย่างมากในการรักษาสมดุลของระบบนิเวศทางทะเล กรมประมงตระหนักถึงความสำคัญนี้ จึงเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำและขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการฉลามของประเทศไทย (NPOA-Sharks) เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานด้านบริหารจัดการทรัพยากรและการอนุรักษ์ฉลาม ร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วน พร้อมทั้งแสวงหาความร่วมมือกับภาคประชาชน โดยการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้และตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ฉลาม” คุณเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง กล่าว
“การอนุรักษ์ฉลามนอกจากจิตสำนึกแล้วยังต้องเร่งผลักดันด้านกฎหมายเพื่อคุ้มครองฉลามที่ใกล้สูญพันธุ์ ควบคู่ไปกับการสร้างความรู้ความเข้าใจต่อเยาวชนคนรุ่นใหม่ และคนรุ่นเก่าที่ยังมีค่านิยมผิดๆที่คิดว่าเมนูจากฉลามคือสุดยอดของอาหาร ซึ่งไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ประชากรฉลามในปัจจุบันอีกต่อไป กรม ทช.ขอเน้นย้ำความสำคัญของการเลิกบริโภคทุกๆ เมนูและผลิตภัณฑ์จากฉลามในทุกๆ โอกาสเพื่อรักษาความสมดุลแห่งท้องทะเลไทยสืบไป” คุณโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าว
นอกจากนี้ องค์กรไวล์ดเอดเตรียมจัดกิจกรรมเพื่อลดความต้องการบริโภคฉลามอย่างต่อเนื่องในปีนี้ร่วมกับภาคีในภาคส่วนต่างๆ และได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรสื่อโฆษณานอกบ้านชั้นนำของไทยที่รวมถึงบริษัท แบงคอก เมโทร เน็ทเวิร์คส์ (บีเอ็มเอ็น) บริษัทแพลน บี มีเดีย และ บริษัทเจซีเดอโก (ประเทศไทย) ร่วมเผยแพร่สื่อรณรงค์ชุดใหม่ภายใต้โครงการ #ฉลองไม่ฉลาม ให้เข้าถึงคนไทยในจุดสำคัญๆ ทั่วประเทศอีกด้วย
โครงการรณรงค์ #ฉลองไม่ฉลาม รวมถึงโฆษณา ‘ทะเลคลั่ง’ สร้างสรรค์โดยบริษัท #BBDOBangkok เอเจนซี่โฆษณาแถวหน้าของไทย ให้กับองค์กรไวลด์เอด
ติดตามโครงการรณรงค์ของไวล์ดเอดได้ทุกช่องทาง
Facebook | WildAidThailand
Instagram | @WildAidThailand
Twitter | @WildAidThailand
TikTok | @WildAidThailand
2021
องค์กร WildAid และ WWF ประเทศไทย ระดมน้องเหมียว ชวน ‘มานุดหยุดกินฉลาม’ เปิดตัวโครงการ ‘เหมียว ช่วย ฉลาม – Cats for Sharks’
องค์กร WildAid และ WWF ประเทศไทย ระดมน้องเหมียว ชวน ‘มานุดหยุดกินฉลาม’ เปิดตัวโครงการ ‘เหมียว ช่วย ฉลาม – Cats for Sharks’
กรุงเทพฯ (30 มีนาคม 2565) – องค์กรไวล์ดเอด (WildAid) และองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย (WWF ประเทศไทย) เปิดตัวโครงการรณรงค์ ‘เหมียว ช่วย ฉลาม – Cats for Sharks’ ระดมพลังแมว 1 ในสัตว์เลี้ยงยอดนิยม ของคนไทยและทั่วโลก มาร่วมขับเคลื่อนการปกป้องฉลาม ด้วยการโน้มน้าวให้ผู้ที่รักและเลี้ยงแมว ผู้รักสัตว์เลี้ยง และคนทั่วไป เลิกบริโภค เพราะเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชากรฉลามทั่วโลกกำลังมีจำนวนลดลง จนอาจกระทบความสมดุลของ ท้องทะเล และขอเชิญชวนให้ทุกคนอัพโหลดรูปแมว หรือสร้างสรรค์แมวในแบบของตัวเองที่ www.catsforsharks.com พร้อมติด แฮชแท็ก #CatsForSharks #มานุดจงหยุดกินฉลาม เพื่อบอกต่อเพื่อนและคนในครอบครัวให้ร่วมกันเลิกบริโภคเมนูจากฉลาม
นอกจากนี้ ทั้ง 2 องค์กร ได้เผยแพร่ภาพยนตร์โฆษณา ที่มีแมวเป็นตัวเอกของเรื่อง เล่าให้ ‘มานุด’ ที่กำลังกิน หูฉลามฟังว่า หากฉลามที่เป็นผู้คุมระบบนิเวศในทะเลหายไป ปลาและสัตว์ทะเลบางชนิดอาจมีมากหรือน้อยเกินไป จนทำให้ทะเลเสียสมดุล และอาจส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลหลายๆ อย่างที่เป็นอาหารของมนุษย์และน้องแมวอีกด้วย
ทั้งนี้ โครงการ ‘เหมียว ช่วย ฉลาม – Cats for Sharks’ ใช้กลยุทธ์การสื่อสารผ่านแมว ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงที่มี ความใกล้ชิดกับมนุษย์เป็นผู้บอกเล่าเรื่องฉลาม ให้เป็นเรื่องใกล้ตัวมากยิ่งขึ้น โดยเป็นกลยุทธ์การตลาดที่หลายแบรนด์ นิยมใช้เพื่อเพิ่มพลังในการสื่อสาร แต่นี่คือครั้งแรกที่ ‘น้องแมว’ จะช่วยบอกเล่าเรื่องเร่่งด่วนของ ‘ฉลาม’ ให้ ‘มนุษย์’ ทราบ และเร็วๆ นี้ เหล่าน้องแมวจากเพจแมวที่มีชื่อเสียงจะมาช่วยกันบอกต่อ ถึงความสำคัญและสถานภาพที่น่าเป็นห่วงของฉลาม ไปยังผู้ติดตามผ่านช่องทางออนไลน์อีกด้วย
จากผลสำรวจขององค์กรไวล์ดเอด ปี พ.ศ. 2560 พบว่าคนไทยจำนวนมากยังคงมีความต้องการบริโภคหูฉลาม โดยคนไทยที่อาศัยในเขตเมืองทั่วประเทศมากกว่าครึ่งเคยบริโภคหูฉลาม และมากกว่า 60% มีแนวโน้มจะบริโภค หูฉลามในอนาคต นอกจากนั้นในการประเมินสถานภาพทางการอนุรักษ์ของฉลามในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2563 โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พบว่า ฉลามที่พบได้ในน่านน้ำไทยกว่าครึ่ง หรือ 47 ชนิด จาก 87 ชนิด มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable) ไปจนถึงใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically endangered) จากการทำ ประมงเกินขนาดและการถูกจับเป็นสัตว์น้ำพลอยได้ส่วนการประเมินความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของปลาฉลามและปลากระเบน ทั่วโลกครั้งใหม่ โดยองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ที่เผยแพร่ในเดือนกันยายนปีที่แล้ว พบว่า 1 ใน 3 ของสายพันธุ์ฉลามและกระเบนทั่วโลก กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์จากการจับปลาเกินขนาดเพื่อนำทุกชิ้นส่วนไปบริโภค หากฉลามหายไป อาจส่งผลเสียหายต่อระบบนิเวศ เพราะฉลามมีบทบาทสำคัญช่วยรักษาความสมดุลของท้องทะเล
“ฉลามยังคงเผชิญภัยคุกคามที่น่าเป็นห่วง การรณรงค์เพื่อลดการบริโภคยังคงมีความจำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่อง เราจึงหาวิธีใหม่ๆ เพื่อทำให้เรื่องนี้เป็นที่สนใจของสังคมอยู่เสมอ เราหวังว่าโครงการ ‘เหมียว ช่วย ฉลาม’ จะสามารถ สื่อสารไปยังกลุ่มคนใหม่ๆ ที่เราไม่เคยเข้าถึงมาก่อน และโน้มน้าวผู้ที่บริโภคให้ปฏิเสธเมนูจากฉลามอย่างถาวร เพราะเราเชื่อว่า ทุกคนอยากมีส่วนร่วมในการปกป้องท้องทะเลเช่นกัน” มร. จอห์น เบเกอร์ ผู้อำนวยการโครงการรณรงค์ องค์กรไวล์ดเอด กล่าว
ฉลาม มีบทบาทสำคัญต่อความอุดมสมบูรณ์ของมหาสมุทร เช่น งานวิจัยที่ตีพิมพ์เมื่อปีที่แล้ว พบ ฉลามเสือช่วยทำให้เต่าทะเล และพะยูนหากินตามแนวหญ้าทะเลแบบกระจายตัว เพราะความระแวงฉลามเสือ จึงเป็นการป้องกันแนวหญ้าทะเลบางบริเวณ ไม่ไห้ได้รับความเสียหายมากเกินไป แนวหญ้าทะเลนอกจากจะเป็น แหล่งอาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อนแล้ว ยังเป็นแหล่งดูดซับ และกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้เร็วกว่าป่าฝนเขตร้อนถึง 35 เท่า ดังนั้น จึงเท่ากับว่าฉลามเสือช่วยชะลอผลกระทบของการ เปลี่ยนแปลงภูมิอากาศทางอ้อมอีกด้วย
นอกจากนี้ ฉลามยังเป็นหลักประกันชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์หลายล้านคนทั่วโลกที่ต้องพึ่งพาระบบนิเวศทางทะเล เพื่อเป็นแหล่งอาหาร หรือสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและการดำรงชีวิต ดังนั้นการค้าและการบริโภคผลิตภัณฑ์จาก ฉลามที่ไม่ยั่งยืน เช่น ครีบ เนื้อ น้ำมัน รวมถึงการถูกจับเป็นสัตว์น้ำพลอยได้ กำลังทำให้ประชากรฉลามหลายชนิดทั่วโลก ลดลงอย่างน่าเป็นห่วง
“เราหวังว่าโครงการ ‘เหมียว ช่วย ฉลาม – Cats for Sharks’ จะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจถึงความเชื่อมโยงระหว่างการบริโภค ที่ไม่ยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ฉลามและกระเบน ที่มีต่อการลดลงของประชากรอย่างน่าเป็นห่วง อันที่จริง เราเริ่มเห็นการสูญพันธุ์ เป็นครั้งแรกของโลกแล้ว ซึ่งอาจรวมถึงฉลามอย่างน้อย 1 ชนิดที่เคยพบเห็นได้ในน่านน้ำไทย หากเราร่วมกันลดการบริโภค ตั้งแต่บัดนี้ สถานการณ์ต่างๆ อาจยังไม่สายเกินไป ” ดร. แอนดี้ คอร์นิช หัวหน้าโครงการอนุรักษ์ปลาฉลามและปลากระเบน ทั่วโลก องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล กล่าว
นอกเหนือจากโครงการ ‘เหมียว ช่วย ฉลาม – Cats for Sharks’ องค์กรไวล์ดเอด และ WWF ประเทศไทย เตรียมเผยแพร่ สื่อรณรงค์เพื่อลดความต้องการบริโภคฉลามอย่างต่อเนื่องในปีนี้ และจะร่วมกับพันธมิตรในภาคส่วนต่างๆ เพื่อสร้างเครือข่าย สนับสนุนการมีส่วนร่วม และผลักดันแนวทางการอนุรักษ์ฉลามต่อไป
องค์กรไวล์ดเอด และ WWF ประเทศไทย ขอขอบคุณมูลนิธิเจ้าชายอัลเบิร์ตที่ 2 แห่งโมนาโก และผู้บริจาคให้กับองค์กรไวล์ดเอด
ที่ให้การสนับสนุนโครงการรณรงค์เพื่อลดความต้องการบริโภคฉลามในประเทศไทย
2019
ไวล์ดเอด จับมือแพลน บี มีเดีย ชวน #ฉลองไม่ฉลาม ผ่านสื่อดิจิตอล ย่านช้อปปิ้งชื่อดังในวันรู้จักฉลาม
ไวล์ดเอด จับมือแพลน บี มีเดีย ชวน #ฉลองไม่ฉลาม ผ่านสื่อดิจิตอลย่านช้อปปิ้งชื่อดังเนื่องในวันรู้จักฉลาม
กรุงเทพฯ (12 กรกฎาคม 2562) – องค์กรไวล์ดเอด (WildAid) ร่วมกับบริษัทแพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน) ผู้นำในบริการสื่อโฆษณาภายนอกที่อยู่อาศัย (Out of Home Media) ผนึกกำลังปกป้องฉลาม ผู้รักษาความสมดุลของระบบนิเวศในท้องทะเล ด้วยสื่อรณรงค์ชุดใหม่ล่าสุดชวนทุกคน #ฉลองไม่ฉลาม ด้วยการไม่เสิร์ฟ ไม่ทานหูฉลามในงานแต่งงาน และงานฉลองต่างๆ ผ่านสื่อดิจิตอลของแพลน บี
ในย่านศูนย์การค้าชื่อดังกลางกรุงเทพมหานคร อย่าง EM District เนื่องในวันรู้จักฉลาม หรือ Shark Awareness Day ที่ตรงกับวันที่ 14 กรกฎาคม ของทุกปี
สื่อรณรงค์ล่าสุดที่ผลิตโดยองค์กรไวล์ดเอด มีเป้าหมายเพื่อบอกว่า การจัดงานแต่งงาน ถึอเป็นการเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ ของชีวิต มีเรื่องให้ต้องเลือก ต้องตัดสินใจมากมาย และสิ่งที่เลือกมาเป็นส่วนหนึ่งของงาน อาจมีผลกระทบตามมาอย่างที่เราคาดไม่ถึง การเสิร์ฟหูฉลามในวันสำคัญ คือการเลือกที่แย่ที่สุด เพราะฉลาม คือสัตว์ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ ที่เปรียบเหมือนเสือในป่า พวกมันกำลังเผชิญกับภัยคุกคามที่เกิดจากความต้องการบริโภค และการประมงเกินขนาด
ผู้ที่ผ่านไปมาบริเวณ Em District สามารถติดตามสื่อรณรงค์ล่าสุดนี้ที่จอด้านหน้าศูนย์การค้าเอ็มโพเรียม และเอ็มควอเทียร์ ตั้งแต่วันนี้ ไปจนถึงกลางเดือนสิงหาคม
ทุกๆ ปี มีฉลามมากถึง 100 ล้านตัวถูกฆ่า และในจำนวนนี้ ครีบจากฉลามมากถึง 73 ล้านตัว ถูกนำไปทำเป็นซุปหูฉลาม หรือเมนูอื่นๆ ผู้บริโภคจำนวนมากไม่ทราบถึงการกระทำอันโหดร้ายเบื้องหลังเมนูหูฉลาม ที่ฉลามจะถูกลากขึ้นมาเพื่อเฉือนครีบของมันออกทั้งหมด ก่อนจะถูกโยนทิ้งกลับลงสู่ท้องทะเล ซึ่งทำให้ฉลามเหล่านั้นต้องจมน้ำตายทั้งเป็น เนื่องจากสูญเสียครีบอันเป็นอวัยวะสำคัญในการดำรงชีวิต
ผลสำรวจความต้องการบริโภคหูฉลามในประเทศไทย พ.ศ 2560 ขององค์กรไวลด์เอดที่พบว่า คนไทยในเขตเมืองมากกว่าครึ่งเคยบริโภคหูฉลาม และมากกว่า 60% ต้องการบริโภคหูฉลามในอนาคต โดยผู้บริโภคทานหูฉลามบ่อยครั้งที่สุดที่งานรื่นเริงต่างๆ นั่นคือ งานแต่งงาน (72%) งานรวมญาติ (61%) และงานเลี้ยงธุรกิจ (47%) ซึ่งเป็นที่มาของสื่อรณรงค์ชุดใหม่ เดินหน้าโครงการรณรงค์ #ฉลองไม่ฉลาม ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2
“บริษัทแพลน บี มีเดีย ภูมิใจที่ได้ร่วมกับองค์กรไวล์ดเอดในการปกป้องฉลาม เราตระหนักดีถึงการลดลงของประชากรฉลามทั่วโลก และความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องสร้างความตระหนักในเรื่องนี้ต่อสาธารณชน ความร่วมมือระหว่างแพลน บี และไวล์ดเอด ตอกย้ำถึงการยึดมั่นในนโยบายในการส่งเสริม และสนับสนุนประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน เราเชื่อว่า นวตกรรมสื่อโฆษณาภายนอกที่อยู่อาศัยใจกลางเมืองซึ่งเป็นจุดแข็งของเรา ผนวกกับสื่อรณรงค์สร้างสรรค์ อย่างโครงการ #ฉลองไม่ฉลาม ขององค์กรไวล์ดเอดจะทำให้การรณรงค์เข้าถึงสาธารณชนจำนวนมากตลอดทั้งเดือนนี้ และเรายินดีที่เป็นส่วนหนึ่งในการรักษาความสมดุลกลับคืนสู่ท้องทะเล” คุณปรินทร์ โลจนะโกสินทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทแพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน) กล่าว
ที่ผ่านมา บริษัท แพลน บี มีเดีย ได้ยึดมั่นและส่งเสริมนโยบายการสร้างสังคมที่ยั่งยืน โดยเอื้อเฟื้อพื้นที่โฆษณาของบริษัทเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการขององค์กรไม่แสวงผลกำไรหลายแห่งอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม
“ความร่วมมือระหว่างองค์กรไวล์ดเอด และ บริษัทแพลน บี ถือว่าสำคัญมากในการยกระดับการเผยแพร่โครงการ #ฉลองไม่ฉลาม ให้เข้าถึงสาธารณชนหลายล้านคนในประเทศไทย เราเชื่อว่าการสนับสนุนจากแพลน บีในครั้งนี้ จะสามารถผลักดันค่านิยมใหม่ของการไม่เสิร์ฟ ไม่ทานหูฉลามในงานแต่งงาน และในทุกๆ โอกาสให้เป็นที่แพร่หลายในสังคมมากยิ่งขึ้น” นายจอห์น เบเกอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายโครงการรณรงค์ องค์กรไวล์ดเอด กล่าว
โครงการรณรงค์ #ฉลองไม่ฉลาม และสื่อรณรงค์ชุดใหม่ล่าสุดสร้างสรรค์โดยบริษัท #BBDOBangkok
เอเจนซี่โฆษณาแถวหน้าของไทย ให้กับองค์กรไวลด์เอด นอกจากสื่อโฆษณาภายนอกบ้านแล้ว จะเผยแพร่สื่อดังกล่าวทางโซเชียล มีเดีย และออนไลน์อื่นๆ
2018
ไวล์ดเอดตั้งเป้าชวนคนไทยลดละเลิกหูฉลาม-งาช้างปีนี้
ไวล์ดเอดตั้งเป้าชวนคนไทยลดละเลิกหูฉลาม-งาช้างปีนี้
สัตว์ป่าหลายชนิดกำลังเผชิญวิกฤตและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์จากความต้องการผลิตภัณฑ์สัตว์ป่าที่ไม่ จำเป็นของมนุษย์ ทุกๆปี มีช้างมากถึง 33,000ตัวถูกฆ่าเพื่อเอางา และครีบของฉลามมากถึง 73ล้านตัว ถูกนำไปทำเป็นซุปหูฉลามหรือเมนูอาหารอื่นๆ ประเทศไทยเป็นทั้งจุดหมายปลายทางและทางผ่านของงาช้างผิดกฎหมายและผลิตภัณฑ์หูฉลาม ในปี 2560 ไวล์ดเอดเดินหน้าโครงการรณรงค์เพื่อชวนคนไทย เลิกซื้อ- เลิกใส่ผลิตภัณฑ์งาช้างอย่างต่อเนื่อง และยังได้เริ่มหยิบยกผลกระทบจากการบริโภคหูฉลาม ให้เป็นที่สนใจในสังคมไทยมากขึ้นด้วย
โครงการรณรงค์เพื่ออนุรักษ์ช้างขององค์กรไวล์ดเอด มีเป้าหมายหลักเพื่อสร้างความตระหนักให้คนไทย รับรู้ถึงวิกฤตการณ์ฆ่าช้างเอางามากขึ้น ลดความต้องการซื้อและใช้ผลิตภัณฑ์งาช้าง และผลักดันให้ไทย เดินหน้าสู่การปิดตลาดค้างาช้างในประเทศ
เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2560 ในวันช้างไทย องค์กรไวล์ดเอดผนึกกำลังนักธุรกิจชั้นนำของไทย 15 ท่านลงนามให้คำมั่นไม่ซื้อ ไม่ใช้ และไม่รับผลิตภัณฑ์งาช้างและสัตว์ป่าอื่นๆ ถือเป็นการสร้างแนวร่วมและการสนับสนุนจากภาคธุรกิจของไทย เพื่อลดความต้องการผลิตภัณฑ์งาช้าง และแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วย กับการค้างาช้าง
และจากความสำเร็จของการเปิดตัวโครงการผู้นำธุรกิจยืนหยัดปกป้องช้าง ในเดือนกันยายน พ.ศ.2560 องค์กรไวล์ดเอด และยูเอสเอด ไวล์ดไลฟ เอเชีย ร่วมกันเปิดตัวโครงการรณรงค์ #ไม่เอางาไม่ฆ่าช้าง (ไอ แอม ไอวอรี่ฟรี) เพื่อให้คนไทยร่วมเป็นพลังยุติการฆ่าช้างเอางา และหันหลังให้กับการซื้อการใช้ ผลิตภัณฑ์งาช้าง
ผู้มีอิทธิพลทางสังคมของไทยมากกว่าร้อยคน ทั้งดารา หมอดู ผู้นำทางศาสนา นักการเมือง นักกีฬาและอื่นๆ ร่วมกันแสดงจุดยืน #ไม่เอางาไม่ฆ่าช้าง พร้อมกันผ่านโซเชียลมีเดีย รวมถึงคนไทยมากกว่า 15,000คน ที่สร้างรูปคู่ช้างและแชร์ผ่านโซเชียลมีเดียกันอย่างคึกคัก
ปี 2560 โครงการของไวล์ดเอดในไทยยังได้เริ่มสร้างความตระหนักให้คนไทยรับรู้ถึงผลกระทบ ของการบริโภคหูฉลามที่มีต่อประชากรฉลามโลก โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อโน้มน้าวให้คนไทยเลิกบริโภค หูฉลามเพื่อประเมินความตระหนักของคนไทยที่มีต่อฉลามและการค้าหูฉลาม ทำความเข้าใจปัจจัยที่ส่งผลต่อ การบริโภค และหาแนวทางโน้มน้าวให้คนเลิกบริโภคหูฉลาม ไวล์ดเอดได้ทำการสำรวจทางออนไลน์ กับคนไทยที่อยู่ในเขตเมืองใหญ่ทั่วประเทศ การสำรวจพบว่าคนไทยในเขตเมืองบริโภคหูฉลาม อย่างแพร่หลาย โดยคนไทย 57% เคยบริโภคหรือยังคงบริโภคหูฉลามอยู่ ขณะที่คนไทย 61% ต้องการบริโภคหูฉลามในอนาคต ผลสำรวจถือเป็นสัญญาณที่น่าเป็นห่วงต่อประชากรฉลามโลก
เรานำเสนอผลสำรวจที่น่าเป็นห่วงนี้ผ่านอินโฟกราฟิกเคลื่อนไหวและภาพนิ่ง โดยได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรของเรา เพื่อยกระดับผลกระทบจากการบริโภคหูฉลาม ให้เป็นที่พูดถึงในหมู่สาธารณชนและสื่อมวลชนมากขึ้น
นอกจากนี้ เรายังได้รับการสนับสนุนจากเพจรีวิวอาหารชื่อดังร่วมแชร์ข้อความโน้มน้าวให้คนไทยละเลิก บริโภคหูฉลามในช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งเป็นช่วงที่นิยมบริโภคหูฉลามอย่างแพร่หลายอีกด้วย
ปีพ.ศ.2561 ไวล์ดเอดยังคงดำเนินโครงการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง โดยร่วมมือกับภาครัฐและพันธมิตรเพื่อยุติความต้องการผลิตภัณฑ์งาช้างและการบริโภคหูฉลามในไทย
ร่วมมือกับเรา หยุดซื้อ คือ หยุดฆ่า
2017
องค์กรไวล์ดเอดเผย คนไทยส่วนใหญ่นิยมบริโภคหูฉลาม ส่งสัญญาณน่าเป็นห่วงชีวิตฉลามโลก
องค์กรไวล์ดเอดเผย คนไทยส่วนใหญ่นิยมบริโภคหูฉลามส่งสัญญาณน่าเป็นห่วงชีวิตฉลามโลก
กรุงเทพมหานคร 18 ก.ค. 2560— องค์กรไวล์ดเอด (WildAid) ได้มีการแถลงการณ์ผลสำรวจความต้องการบริโภคหูฉลามในประเทศไทย ซึ่งจากการสำรวจพบว่าคนไทยมากกว่าครึ่งเคยบริโภคหูฉลาม และที่น่าเป็นห่วงคือมากกว่า 60% ยังต้องการบริโภคหูฉลามในอนาคต บ่งชี้ว่าควาต้องการบริโภคหูฉลามของคนไทยมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น นอกจากนั้นคนไทยจำนวนมากยังไม่ทราบถึง ผลกระทบจากการบริโภคหูฉลามต่อประชากรฉลามทั่วโลก รวมถึงความโหดร้ายของการฆ่าฉลามเพื่อการค้าหูฉลาม
รายงาน “ผลสำรวจความต้องการบริโภคหูฉลามในประเทศไทย” รวบรวมข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงบทบาท ของประเทศไทยในเวทีการค้าหูฉลามของโลก พร้อมกับผลสำรวจความต้องการบริโภคหูฉลามในประเทศไทยที่จัดทำโดยองค์กรไวล์ดเอด และบริษัทวิจัย แรพพิด เอเชีย (Rapid Asia) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะทำความเข้าใจ ปัจจัยของการบริโภคหูฉลามของคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จากการสำรวจพบว่า คนไทยบริโภคหูฉลามอย่่างแพร่หลาย และมีแนวโน้มที่ประเทศไทยจะเป็นตลาดสำคัญของการค้าหูฉลาม โดยคนไทย 57% ที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองทั่วประเทศเคยบริโภค หรือยังคงบริโภคหูฉลามตามโอกาสต่างๆ ขณะที่ 29% ได้บริโภคหูฉลามในช่วง 12 เดือนที่่ผ่านมา และที่น่าเป็นห่วงคือ คนไทย 61% ยังต้องการบริโภคหูฉลามในอนาคต โดยให้เหตุผลว่า เพราะความอยาก รู้อยากลอง และเคยได้ยินมาว่าหูฉลามมีรสชาติดี ทั้งที่จริงแล้ว หูฉลามไม่มีรสชาติใดๆ แต่มาจากน้ำซุป ที่ผ่านการปรุงรส
ผู้บริโภคบอกว่า ได้รับประทานหูฉลามบ่อยครั้งที่สุดที่งานแต่งงาน (72%) ทานกับครอบครัวที่ร้านอาหาร (61%) และในงานเลี้ยงธุรกิจ (47%) ซึ่งการสำรวจตลาดโดยองค์กรไวล์ดเอดพบว่า มีร้านอาหารอย่างน้อย 100 ร้านในกรุงเทพมหานครที่มีเมนูหูฉลาม แสดงให้เห็นว่าเมนูดังกล่าวพบได้ทั่วไป และผู้บริโภคสามารถ ซื้อหาได้อย่างง่ายดาย
แต่ละปี มีฉลามกว่า 100 ล้านตัวถูกฆ่าอย่างโหดร้าย ในจำนวนนี้ครีบของฉลามมากถึง 73 ล้านตัวถูกนำมาทำเป็น “ซุปหูฉลาม” หรือประกอบเป็นเมนูอื่นๆ ซึ่งประเทศไทยถูกจัดได้ว่าเป็นตลาดค้าครีบฉลามรายใหญ่แห่งหนึ่งของโลก โดยเกิดจากการที่ผู้บริโภคไม่ตระหนักถึงการกระทำอันโหดร้ายเบื้องหลังเมนูหูฉลามนั้น ที่เหล่าฉลามต่างถูกลากขึ้นมาเพื่อเฉือนครีบของมันออกทั้งหมด ก่อนจะถูกโยนทิ้งกลับลงสู่ท้องทะเล ซึ่งทำให้ฉลามเหล่านั้นต้องจมน้ำตายทั้งเป็น เนื่องจากสูญเสียครีบอันเป็นอวัยวะสำคัญในการดำรงชีวิต
“จากผลการสำรวจ เป็นที่แน่ชัดว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความตระหนักให้คนไทยรับรู้ถึง ผลกระทบจากการบริโภคหูฉลามที่มีต่อประชากรฉลามทั่วโลก และจำเป็นต้องลดความต้องการบริโภค หูฉลาม เพราะหยุดซื้อ คือ หยุดฆ่า” มร.จอห์น เบเกอร์ กรรมการผู้จัดการ องค์กรไวล์ดเอด กล่าว
ตามข้อมูลของศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร ระหว่างพ.ศ.2555-2559 ประเทศไทยส่งออกครีบ ปลาฉลามและหูฉลามแปรรูปมากกว่า 22,467ตัน และนำเข้าผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันมากกว่า 451.57ตัน ปีพ.ศ.2558 เพียงปีเดียว ไทยส่งออกมากกว่า 5,000ตัน ซึ่งใกล้เคียงกับปริมาณผลิตภัณฑ์หูฉลามแปรรูป ที่ฮ่องกงนำเข้าในปีเดียวกัน ทั้งนี้ไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่า แหล่งที่มาของครีบฉลามที่ไทยนำมาแปรรูป และส่งออกไปนั้นมาจากแหล่งใดบ้าง เนื่องจากประชากรฉลามในน่านน้ำไทยมีจำนวนไม่มากพอ เมื่อเทียบกับปริมาณการส่งออกที่ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหารได้รับรายงาน ด้วยข้อมูลข้างต้น ทำให้ไทยกลายเป็นผู้ส่งออกหูฉลามแปรรูปอันดับหนึ่งของโลกแทนฮ่องกง
ราคาซุปหูฉลามในประเทศไทย เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งเสริมการบริโภค โดยเริ่มต้นที่ชามละ 300 บาท ในร้านอาหารข้างทาง ไปจนถึงชามละ 4,000 บาท ในภัตตาคารหรู
ไวล์ดเอดยังได้ทำการสำรวจความตระหนักของคนไทยเกี่ยวกับภัยคุกคามประชากรฉลาม และพบว่า อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของประชาชนทั้งประเทศ ยังไม่ได้รับทราบถึงผลกระทบจากการบริโภคและการค้า หูฉลามต่อประชากรฉลามโลก โดยพวกเขาไม่ทราบว่าส่วนใหญ่ฉลามจะถูกฆ่าเพียงเพื่อเอาครีบของมัน มาประกอบอาหารเท่านั้น และจำนวนประชากรฉลามหลายสายพันธุ์ลดลงมากถึง 98% ในขณะที่คนไทย 85% ไม่ทราบจำนวนฉลามที่ถูกฆ่าในแต่ละปี
นอกจากนี้ในงานแถลงการณ์ไวลด์เอดได้เปิดตัวอินโฟกราฟิก “หูฉลามคนละชาม แลกกี่ล้านชีวิต” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างองค์กรไวล์ดเอด (WildAid) และ Infographic Thailand อีกด้วย
ดาวน์โหลดรายงานผลสำรวจความต้องการบริโภคหูฉลามในประเทศไทย ภาคภาษาไทยและอังกฤษที่นี่